เปิดแล้ว! แหล่งเงินกู้น้องใหม่ “มีที่ มีเงิน” รับจำนอง-ขายฝากที่ดิน

เปิดแล้ว! แหล่งเงินกู้น้องใหม่ “มีที่ มีเงิน” รับจำนอง-ขายฝากที่ดิน

นายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด” เมื่อกลางปี 2565 เพื่อต้องการบรรเทาปัญหาหนี้ และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน รวมถึงเป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยถูกลง เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับการนำที่ดินมาเป็นหลักประกันการกู้เงินในแบบจำนอง หรือขายฝาก ซึ่งขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการสินเชื่อที่ดินแล้ว

“นับเป็นครั้งแรก ที่มีหน่วยงานภาครัฐร่วมกันจัดตั้งบริษัทและถือหุ้นใหญ่ เป็นแหล่งเงินกู้แห่งใหม่เพื่อให้บริการสินเชื่อที่เข้าถึงได้ด้วยการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่สูงเกินไป ขณะนี้บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด พร้อมเปิดให้บริการสินเชื่อที่ดินแล้ว โดยให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องยามฉุกเฉินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในยามเดือดร้อน มีความจำเป็นต้องการใช้เงินสดในยามฉุกเฉิน หรือเติมทุนหมุนเวียนกิจการที่กำลังหาเม็ดเงินเสริมสภาพคล่อง หรือต้องการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงรีไฟแนนซ์เงินกู้เดิม เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ย” นายอิสระ กล่าว

ธุรกิจ

สำหรับสินเชื่อที่ดิน มีเป้าหมายช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเปิดรับจำนองที่ดิน และขายฝาก รีไฟแนนซ์ ให้กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา วงเงินกู้ 3 แสนบาท ถึง 10 ล้านบาท และนิติบุคคล วงเงินกู้ตั้งแต่ 3 แสนบาท จนถึง 50 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สูงสุด 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ คิดอัตราดอกเบี้ย ปีแรก 6.99-8.99% ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป MLR+สูงสุดไม่เกิน 2.85% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR = 6.150% ต่อปี) ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แบบลดต้นลดดอก พร้อมปลอดชำระเงินต้นนาน 1 ปี โดยไม่มีการเช็คเครดิตบูโร ไม่ตรวจสอบรายได้ และไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน

“บริษัทมีที่ มีเงิน จะเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชนผ่านการให้สินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการค่อนข้างสูง โดยข้อมูลจากกรมที่ดิน พบว่า มีมูลค่าจดจำนองที่ดินระดับหมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 10-20% และหากรวมสินเชื่อในส่วนของผู้ประกอบการนอกระบบ น่าจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่การคิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง เฉลี่ย 24% ต่อปี หรือ 2% ต่อเดือน แม้ว่าในระบบจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี และคิดอัตราค่าธรรมเนียมการขอวงเงินเฉลี่ย 3-5% ซึ่งหลังจากบริษัทเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้แล้ว คาดว่าจะช่วยให้ตลาดทั้งระบบ ปรับลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อแข่งขัน คาดหวังว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 15% ต่อปี โดยอาจจะลงมาอยู่ที่ 12-13% ต่อปี” นายอิสระ กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายปี 2566 คาดว่าจะมียอดปล่อยสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการได้ประมาณ 4-5 พันราย โดยปัจจุบันได้ให้บริการนำร่องไปแล้วในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรสาคร และสมุทรปราการ และเตรียมให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ ม.ค.2566 พร้อมกับมีแผนขยายบริการไปตามหัวเมืองใหญ่ทุกภูมิภาค ในต้นปี 2566 และทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นไป โดยมีสาขาของธนาคารออมสินเป็นหลักในการให้บริการ

อย่างไรก็ดี บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เกิดขึ้นจากการผลักดันของธนาคารออมสิน ด้วยแนวทางที่ต้องการให้ธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝากในตลาดเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียม และเกิดความคล่องตัวในการให้บริการประชาชน จึงเกิดการร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน กับบริษัท ทิพย เอกซ์โพเนนเชียล จำกัด และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท

แนะนำข่าวธุรกิจเพิ่มเติม : ‘ท่องเที่ยวฯ’ เล็งบุกตลาดใหม่ ‘เอเชียกลาง’ เสริมทัพฟื้นรายได้ยุคหลังโควิด

‘ท่องเที่ยวฯ’ เล็งบุกตลาดใหม่ ‘เอเชียกลาง’ เสริมทัพฟื้นรายได้ยุคหลังโควิด

หลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นที่น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวประเทศกลุ่ม เอเชียกลาง กลับมามีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CIS เช่น สาธารณรัฐคาซัคสถาน และสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน จุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมของกลุ่มประเทศเหล่านี้คือตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CIS ด้วยกัน จากปัจจัยหลักความสะดวกเรื่องมาตรการการขอวีซ่าและจำนวนเที่ยวบิน

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศ “เอเชียกลาง” เช่น สาธารณรัฐคาซัคสถาน และสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ที่มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ล่าสุดได้หารือกับเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 นักท่องเที่ยว “คาซัคสถาน” ได้รับสิทธิเข้าประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข Visa on Arrival (VoA) หรือการขอ “วีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง” ทางรัฐบาลไทยได้ขยายจาก 15 วัน เป็น 30 วัน ถือเป็นปัจจัยบวกในการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานที่จะมาไทย

ขณะเดียวกัน พบปัจจัยสนับสนุนจากการที่มีสายการบิน AirAstana บินตรงเส้นทาง อัลมาตี – กรุงเทพฯ ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 30 ต.ค.2565 และยังมีเส้นทางบินตรง อัลมาตี – ภูเก็ต มีแผนทำการบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน โดยจะเริ่มวันที่ 30 ต.ค.นี้ จากปัจจุบันทำการบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ด้านสายการบิน SCAT หรือ Sunday Airline ซึ่งให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ประกาศทำการบินในช่วงฤดูหนาวนี้ จากเมืองอัลมาตี, อัสตานา, คอสตาเนย์, เชมเคนท์ และอูราลสค์ มายังภูเก็ต และอู่ตะเภา

สำหรับนักท่องเที่ยวคาซัคสถานที่เคยเดินทางมาไทยในปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด พบว่าเดินทางเข้าไทย 56,529 คน วันพักเฉลี่ย 14.03 วัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,365.25 ต่อคนต่อวัน สร้างรายได้รวม 3,462 ล้านบาท และในปี 2565 ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. มีนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 21,971 ราย โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าไทยตลอดปี 2565 จะมีมากถึง 55,000 ราย เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนเกิดโควิด-19

“และจากการพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและสายการบิน ช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ต่างเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม VoA และต้องการร่วมมือในกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงฤดูหนาวนี้”

ฟากสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยว “อุซเบกิสถาน” ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 – 31 มี.ค.2566 นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานได้รับสิทธิเข้าประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข VoA ขยายจาก 15 วันเป็น 30 วัน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวคาซัคสถาน

ขณะที่สถานการณ์เที่ยวบินในปัจจุบัน ยังไม่มีเที่ยวบินตรง จากอุซเบกิสถานมายังประเทศไทย สายการบิน Uzbekistan Airways อยู่ระหว่างการเจรจาขอกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางมาประเทศไทย โดยบินจากเมืองทาชเค้นท์ (Tashkent) และเมืองซามาร์คานด์ (Samarkand) ต่อเครื่องที่เมืองอัลมาตี (Almaty) สาธารณรัฐคาซัคสถาน โดยสายการบิน Air Astana หรือต่อเครื่องที่เมืองอิสตันบูล (Istanbul) โดยสารการบิน Turkish Airlines หรือต่อเครื่องที่เมืองดูไบ โดยสายการบิน Emirate Airlines หรือเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง จากเมืองทาช เค้นท์ (Tashkent) มาขึ้นเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่เมืองเชมเคนท์ (Shymkent) สาธารณรัฐคาซัคสถาน

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานในปี 2562 มีจำนวนเดินทางเข้าไทย 19,891 ราย และในปี 2565 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางเข้าไทยแล้ว 2,496 ราย คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานเดินทางเข้าไทยในปี 2565 มากถึง 8,500 ราย

“อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น มีการรายงานข้อมูลความไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวอุซเบกิสถานที่ต้องการจะอยู่ประเทศไทยมากกว่า 30 วัน ซึ่งจะต้องส่งเอกสารมายื่นขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตเมืองมอสโก สหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น”

พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมภาคท่องเที่ยวไทยปี 2565 มั่นใจว่าในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดในและต่างประเทศปี 2565 จะทำได้ตามเป้าหมาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้งแน่นอน! แต่ “ความกังวล” ในตอนนี้อยู่ที่ “เป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยว” ของปีนี้ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งไว้ 1.28 ล้านล้านบาท

“ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่ยากอยู่แล้ว ต้องมีอะไรมาเสริมเพื่อให้รายได้รวมการท่องเที่ยววิ่งไปถึงเป้าหมายที่กระทรวงฯตั้งไว้ ไปจนถึงเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลตามที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ 1.5 ล้านล้านบาท”

สำหรับเป้าหมายปี 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 20 ล้านคน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2562 ก่อนโควิด-19 ที่เคยเป็น “ปีทอง” ทำรายได้รวมสูงสุดอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท