เวทีธรรมศาสตร์ ‘วันสัญญา ธรรมศักดิ์’ ถกนโยบายพรรคการเมือง

เศรษฐศาสตร์ เวทีธรรมศาสตร์

‘ธรรมศาสตร์’ จัดเสวนา ‘อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง’ วิทยากรเห็นพ้อง นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงสร้างภาระงบประมาณชาติ หนีไม่พ้นต้องกู้เงินเพิ่ม กระทบการพัฒนาประเทศในระยะยาว

แม้มีกลไกควบคุมการโฆษณาหาเสียง แต่บทลงโทษเบา- กกต.มีข้อจำกัด ด้าน ‘ดร.สติธร’ มองเกมรอบนี้ คนตัดสินใจเลือกจาก ‘อุดมการณ์’ นำ ส่วน ‘นโยบาย’ เป็นปัจจัยลำดับสุดท้าย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2566 หัวข้อ “อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง” เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ณ มธ. ศูนย์รังสิต โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสภาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลือกตั้งในช่วงนี้ ถูกวิจารณ์ว่าแข่งขันกันนำเสนอแต่ ‘นโยบายประชานิยม’ ถึงแม้ว่าการแข่งขันทางนโยบายจะเป็นเรื่องปกติและดีต่อประชาชน หากอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักการที่ถูกต้อง คำนึงถึงเสถียรภาพของประเทศ แต่นโยบายที่มุ่งหวังผลการหาเสียงที่มากเกินไป จะสร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมา โดยมีการประเมินว่าหากนำนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้ขณะนี้มาปฏิบัติจริง จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัวจากงบประมาณประเทศที่ใช้อยู่

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องชี้แจงว่าจะนำเงินจากไหนมาดำเนินนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าในทางหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีเพิ่ม แต่หากไม่เก็บเพิ่ม รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่า 10% ของจีดีพีขึ้นไป ซึ่งตัวเลขนี้เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ประเทศจะต้องกู้เงินเพิ่ม และอาจจะส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานปัจจุบันที่ 70% โดยตัวเลขนี้ก็ถูกขยายเพิ่มมาแล้วจาก 60% ในช่วงโควิด ซึ่งหากหนี้สาธารณะของประเทศไทยสูงเกินกว่านี้ ย่อมสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและกระทบกับเศรษฐกิจอย่างน่าเป็นห่วง

“จากฐานะทางการเงินการคลังของไทยในปัจจุบัน ขอฟันธงว่าเราไม่สามารถแบกรับนโยบายประชานิยมแบบแจกเงิน และการก่อหนี้ที่ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ส่งผลภายใน 1-2 ปี แต่จะเป็นปัญหาในอนาคตที่รัฐบาลและคนรุ่นหลังต้องแบกรับภาระหนัก” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่านโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เข้าไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งไทยมีปัญหารุนแรงติดอันดับโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่แตะปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังมีช่องว่างที่เติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก 5-6% ต่อปี ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น โดยไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพ ซึ่งหากทำให้เติบโตเช่นนี้ได้อย่างน้อย 10-15 ปี ประเทศไทยจะมีโอกาสก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ แต่ก็กลับมีเพียงไม่กี่พรรคที่จะตั้งเป้าหมายเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังระบุด้วยว่า ในส่วนนโยบายด้านอุตสาหกรรมใหม่ที่พูดถึงอย่าง New S-Curve สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพฝันที่ทำได้แค่ในระดับความคิด เพราะความเป็นจริงแล้วเราไม่เคยลงทุนอย่างจริงจังกับทักษะแรงงาน งานวิจัย หรือนวัตกรรม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศหลังจากนี้จึงอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ แต่คือ ‘การกระจายอำนาจ’ อย่างแท้จริงเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงในระดับฐานรากได้

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า TDRI ได้ทำการศึกษานโยบายของ 9 พรรค รวม 87 นโยบาย ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 2566 โดยพบว่าภาพรวมนโยบายครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ ธุรกิจ SME ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบต่างๆ

เศรษฐศาสตร์ เวทีธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม พบว่าหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็น ‘นโยบายระยะยาว’ กลับไม่ค่อยเห็นภาพความชัดเจนของงบประมาณเท่าใด โดยพบอีกว่าหากพรรคการเมืองมีการทำตามนโยบายที่หาเสียงจริงจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ที่สุดแล้วรัฐบาลเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่า ผลกระทบที่ตามมาจากการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มคือ ประเทศไทยจะมีงบลงทุนน้อยลง เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ สุดท้ายก็จะกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถในระยะยาว และอาจทำให้รัฐต้องหันไปใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (มาตรการกึ่งการคลัง) ซึ่งเงินเหล่านี้จะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และอาจเกิดเป็นคำถามถึงความโปร่งใส

ข่าวเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม>>>>โกลด์แมน แซคส์ หั่นคาดการณ์ ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พ.ค.นี้